ชื่อ: วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน College of Aviation Development and Training
ชื่อย่อ: CADT
วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ก่อตั้งขึ้นโดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในการประชุมครั้งที่ 1 ปีการศึกษา 2559 เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559 เพื่อดำเนินการผลิต พัฒนา และฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน ให้มีความรู้ ประสบการณ์และทัศนคติที่ดีในการปฏิบัติงานของอุตสาหกรรมการบินของประเทศ ภูมิภาคและของโลก โดยมี นาวาอากาศตรี ดร.วัฒนา มานนท์ เป็นคณบดี
- หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจการบิน (Aviation Business)
- หลักสูตรอบรมระยะสั้น (IATA Certified Courses)
วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบินมุ่งผลิตบุคลากรที่มีความรู้เป็นมาตรฐาน มีประสบการณ์และทัศนคติที่พร้อมสู่การปฏิบัติตามความต้องการของอุตสาหกรรมการบินระดับนานาชาติ
ผลิตพัฒนาและฝึกอบรมบุคลากรในอุตสาหกรรมการบินที่มีคุณภาพเป็นมาตรฐาน และสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางด้านการบินของไทย
เผยแพร่องค์ความรู้ คำแนะนำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของระบบขนส่งทางอากาศของไทย
พัฒนาวิทยาลัยให้มีความเข้มแข็ง มีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
องค์กรแห่งการเรียนรู้ที่เป็นเลิศทางด้านวิชาการ และการบริการวิชาการเพื่ออุตสาหกรรมการบินที่เข้มแข็ง และยั่งยืน
“CADT Family” กัลยาณมิตร คิดก้าวหน้า ใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา พัฒนาต่อเนื่อง
หลักสูตรต่างๆของ CADT ทั้งสาขาวิชาธุรกิจการบิน สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีการบิน และการอบรมด้านการบินต่างๆ มีความโดดเด่นจากหลักสูตรลักษณะเดียวกันของสถาบันการศึกษาอื่นๆ เนื่องจากเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นความรู้ความสามารถทางวิชาชีพหรือด้านปฏิบัติการ (Operation) และมีห้องปฏิบัติการในการเรียนการสอนต่างๆมากมาย เพื่อให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ตรงในงานการบินด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน พนักงานต้อนรับภาคพื้น งานคลังสินค้าทางอากาศ งานการตลาดในธุรกิจการบิน เป็นต้น โดยวิทยาลัยมี Mock Up ที่ใช้ในการศึกษาภาคปฏิบัติของนักศึกษาเป็นเครื่องบินแบบ A300-600 รวมทั้งห้องปฏิบัติการต่างๆ เช่น ห้องฝึกปฏิบัติการสำรองที่นั่งด้วยระบบ Amadeus ห้องฝึกปฏิบัติการ Aerodrome Simulator และ ห้องฝึกปฏิบัติการ Flight Operation เป็นต้น โดยมีอุปกรณ์การฝึกที่ครบสมบูรณ์เสมือนจริง โดยรายวิชาทั้งหมดนั้นมีอาจารย์ผู้สอนที่มีประสบการณ์ตรงในสายงานด้านอุตสาหกรรมการบินเป็นผู้อำนวยการเรียนการสอน
นอกจากนี้สำหรับหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีการบิน วิชาเอกการจัดการอำนวยการบิน เป็นหลักสูตร 2 ภาษา ที่จัดทำเพื่อตอบสนองความต้องการบุคลากรด้านการบินเพื่อให้มีความรู้เป็นมาตรฐาน และการเป็นศูนย์กลางด้านการบินของไทย โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรดังกล่าวมีความรู้ ความสามารถได้มาตรฐานโดยเฉพาะมีความรู้ความสามารถทางการใช้ภาษาอังกฤษ จึงได้จัดทำหลักสูตรดังกล่าว จัดการเรียนการสอนเป็นสองภาษา ซึ่งสาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีการบินนั้นเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความรู้ความสามารถทางวิชาชีพหรือด้านปฏิบัติการ (Operation) โดยผ่านการฝึกงานในสถานประกอบการหรือสหกิจศึกษา ที่สำคัญหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรแรกในระดับปริญญาตรีของประเทศไทย ที่มุ่งผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านอำนวยการบิน (Flight Operation Management) เนื่องจากสถาบันการศึกษาอื่นๆจะเน้นการเรียนการสอนในด้านการบริการทั้งภาคพื้นและภาคอากาศ แต่สำหรับหลักสูตรของ CADT จะเน้นในด้านการปฏิบัติการด้านอำนวยการบิน และเมื่อสำเร็จการศึกษาจะมีองค์ความรู้เพื่อสอบใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ในตำแหน่งพนักงานอำนวยการบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หลักสูตรระดับปริญญาตรี ทั้ง 2 หลักสูตร ได้รับการยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยเป็นไปตามเกณฑ์หลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2558 ของกระทรวงศึกษาธิการ และสามารถทำการกู้ยืมเพื่อการศึกษาได้ (กรอ. หรือ กยศ.)